7.3.56

คาร์บอนเครดิต"จากสวนยาง ลดก๊าซเรือนกระจก-ลดโลกร้อน แล้วจะซื้อขายได้หรือ?


  ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมากทั้งในหมู่นักการเมืองและนักวิชาการณ์เกี่ยวกับการขายคาร์บอนเครดิตของสวนยางพารา มีรายงานการวิจัยว่ายางพารานั้น สามารถดูดซับคาร์บอนได้เป็นอย่างดียอดเยี่ยมตั้งแต่ต้นยาง ยันน้ำยางกันเลยทีเดียว
เกษตรกรสวนยางผู้ที่กำลังช่วยกู้โลกครั้งนี้จะได้เงินตอบแทนหรือ?
     ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติและส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกสามารถใช้ข้อมูลในการอ้างอิงได้ว่า การปลูกสร้างสวนยางพาราสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนจากบรรยากาศ หรือลดก๊าซเรือนกระจกได้ เพื่อนำไปคำนวณเป็นมูลค่าหรือ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon credit) ใช้เป็นข้อต่อรองทางการค้าในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกที่จะมีการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ในอนาคต

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยยางได้ศึกษาวิจัยหาปริมาณสารคาร์บอน โดยใช้วิธีหามวลชีวภาพของต้นยางพาราที่อายุต่างๆในแต่ละพื้นที่ สภาพพื้นที่ปลูกยาง จำนวนต้นที่ปลูกต่อไร่ และความสำเร็จของการปลูกยาง กับยางพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกในประเทศ ด้วยการวัดมวลชีวภาพทุกส่วนของต้นยางที่โค่น อายุตั้งแต่ 2-25 ปี จำนวน 95 ต้นของสวนยางในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ พบว่า มวลชีวภาพของต้นยางจะเพิ่มขึ้นที่ขนาดเส้นรอบต้น 20-100 เซนติเมตร แต่จะลดลงเมื่อขนาดเส้นรอบต้นโตมากกว่า 100 เซนติเมตร จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ทราบว่าอายุที่เหมาะสมที่ควรตัดโค่นต้นยางแล้วปลูกทดแทนใหม่ เพื่อให้พื้นที่ปลูกยางนั้นเก็บเกี่ยวสารคาร์บอนในรอบใหม่ต่อไปได้

จากการวิจัยของ นายอารักษ์ จันทุมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวถึงการหาปริมาณสารคาร์บอนของต้นยางพารา พบว่า
         .เมื่อต้นยางอายุ 9 ปี ปลูกยางสำเร็จได้ 84 % มีขนาดเส้นรอบต้นเฉลี่ย 54.6 เซนติเมตร ให้มวลชีวภาพ 19 เมตริกตันต่อไร่  จะเก็บสารคาร์บอนได้ 8.32 เมตริกตันต่อไร่
         .ยางอายุ 12 ปี มีเส้นรอบต้นเฉลี่ย 59.0 เซนติมเตร มีจำนวนต้นปลูก 64-78 ต้นต่อไร่ ให้มวลชีวภาพ 20-24 เมตริกตันต่อไร่ จะเก็บสารคาร์บอนได้ 11.46 เมตริกตันต่อไร่
         .ยางอายุ 15-22 ปี มีเส้นรอบต้นเฉลี่ย 65.7-71.4 เซนติเมตร มีจำนวนต้นปลูก 62-86 ต้นต่อไร่ ให้มวลชีวภาพใกล้เคียงกันคือ 30-37 เมตริกตันต่อไร่  จะเก็บสารคาร์บอนได้ 15.44 เมตริกตันต่อไร่
         .เมื่อต้นยางอายุได้ 25 ปี จะให้มวลชีวภาพ 49 เมตริกตันต่อไร่ จะเก็บสารคาร์บอนได้ 22.39 เมตริกตันต่อไร่
สรุปว่าปริมาณสารคาร์บอนที่ต้นยางกักเก็บไว้เมื่อต้นยางอายุ 9 ปี, 12 ปี, 18 ปี, และ25 ปี จะเก็บสารคาร์บอนได้ 8.32, 11.46, 15.44, และ 22.39 เมตริกตันต่อไร่ ตามลำดับ แม้กระทั่งชิ้นส่วนเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของต้นยางก็ยังเก็บสารคาร์บอนไว้ได้อีกประมาณ 45% และการทิ้งเศษซากใบ กิ่ง ก้าน ผล เมล็ด ในแต่ละปีลงสู่ดิน เมื่อต้นยางอายุ 11-12 ปี, 15-17 ปี, และ20-21 ปี จะทิ้งเศษซาก 1.29, 0.53, และ0.33 เมตริกตันต่อไร่ ตามลำดับ เก็บสารคาร์บอนได้ 8.0 เมตริกตันต่อไร่ และผลผลิตน้ำยางจะเก็บสารคาร์บอนได้ 4.57 เมตริกตันต่อไร่ ในส่วนของดินมีปริมาณอินทรียวัตถุยังเก็บสารคาร์บอนได้อีก 7.8 เมตริกตันต่อไร่ จึงเห็นได้ว่า วงจรชีวิตของการปลูกสร้างสวนยางอายุ 25 ปี จะมีปริมาณสารคาร์บอนในแหล่งต่างๆ ได้แก่ ส่วนของต้นยาง เศษซากพืช ผลผลิตน้ำยาง และดิน ซึ่งสามารถเก็บสารคาร์บอนได้ 42.65 เมตริกตันต่อไร่

นายสุขุม กล่าวว่า นอกจากนี้การโค่นสวนยางเพื่อปลูกแทนใหม่ 387,500 ไร่ต่อปี ยังช่วยเก็บสารคาร์บอนได้ไม่น้อยกว่า 16.54 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยไม้ยางที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 6 นิ้วสามารถนำไปใช้ทำอุปกรณ์เครื่องเรือนต่างๆจะถูกเก็บสารคาร์บอนไว้ในรูปของเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน เครื่องใช้สำนักงาน หรือแม้กระทั่งในล้อรถยนต์ช่วยยืดเวลาการคืนก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศได้อีกประมาณ 10-20 ปี

จะเห็นได้ว่าแทบทุกส่วนของต้นยางจนถึงพื้นดิน นอกจากจะช่วยเก็บรักษาและยืดเวลาการคืนก๊าซคาร์บอนหรือลดก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้แล้ว ที่สำคัญยังสามารถใช้อ้างอิงในการต่อรองทางการค้าในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก ที่จะมีการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ขึ้นในอนาคตอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก
     ดังนั้น ขั้นตอนที่จะซื้อขายนั้นต้องทำโครงการ ว่าสวนยางของท่านมันจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนให้โลกเราได้เท่าไหร่ แล้วเอาไปเสนอที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.  กลั่นกรอง ถ้าโครงการเราผ่านก็จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบติดตามผล ถ้าเค้ารับรองเราก็จะสามารถเอาคาร์บอนด์เครดิตเราไปขายได้เงินมาใช้เพื่อคุณภาพชีวิตให้สดใส อยู่ดี กินดี มีใช้ มากขึ้น
ที่มา: 1. กลุ่มงานคณะกรรมาธิการ การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำนักกรรมาธิการ3
       2. จุลสารก๊าซไลน์ขอบคุณข้อมูลจากจุลสารก๊าซไลน์ ภายใต้ความร่วมมือของ ปตท.กับวิชาการดอทคอม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น