12.7.54

ระบบกรีดยางพารา

การกรีดยางที่ดีก็เหมือนกับการจะทำอะไรสักอย่าง หากต้องการให้วิธีการและขั้นตอนดำเนินไปถูกทิศทาง ก็จำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักการหรือเป้าหมายที่ต้องการขึ้นมาก่อน ซึ่งหลักการในการกรีดยางที่ดี มี 4 ข้อ ดังนี้
  1. กรีดให้ได้น้ำยางมากที่สุด ข้อนี้คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธอย่างแน่นอน เนื่องจากน้ำยางจะมีอยู่ในท่อน้ำยางที่อยู่ในเปลือกชั้นใน ยิ่งเข้าใก้ลเยื่อเจริญ(Cambium)มากเท่าใดจำนวนท่อน้ำยางก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกรีดในแต่ละครั้งพื่อให้ได้น้ำยางมากที่สุด ก็คือ
    • ลักษณะหน้ากรีดลึกพอเหมาะและเรียบที่กรีดโดยผู้กรีดที่มีฝีมือดีกรีดเวียนจากซ้ายบนลงมาทางขวาล่าง เพื่อให้ตัดท่อน้ำยางให้มากที่สุด (ท่อน้ำยางเรียงตัวเอียงประมาณ 3 องศา เวียนจากขวามาซ้าย)
    • การกรีดให้ลึกเข้าใก้ลเยื่อเจริญมากที่สุด เพื่อให้ตัดท่อน้ำยางให้มากที่สุด แต่ต้องไม่ทำให้เยื่อเจริญเสียหาย หากเรากรีดห่างจากเยื่อเจริญ 1.0 มิลลิเมตร เราจะตัดท่อน้ำยางได้ประมาณ 50 % แต่หากเรากรีดให้ลึกลงไปอีกโดยห่างจากเยื่อเจริญ 0.5 มิลลิเมตร เราจะตัดท่อน้ำยางได้มากประมาณถึง 80 %
    • ความยาวของรอยกรีด การกรีดครึ่งลำต้นหรือ 1/2 ย่อมได้น้ำยางมากกว่าการกรีด 1/3 ของลำต้น เพราะรอยกรีดยาวกว่าทำให้สามารถตัดท่อน้ำยางได้มากกว่า
    • มุมกรีดควรมีขนาดพอเหมาะคือ 30 องศา กับแนวระดับ
    • ความหนาของเปลือกยางที่กรีดหรือถูกเฉือนออกมา หากบางเกินไป ก็จะได้น้ำยางน้อย แต่ถ้าหนาเกินไป ก็จะทำให้สิ้นเปลืองเปลือกยาง
    • การกรีดยางด้วยวิธีการกระตุกข้อมือจะทำให้มีดเฉือนเปลือกยางด้วยความเร็วอย่างฉับพลัน และด้วยมีดที่คมอยู่เสมอก็จะทำให้รอยเฉือนคม ทำให้ได้น้ำยางมากกว่าการกรีดด้วยวิธีลากด้วยท่อนแขน
    • การกรีดวันเว้นวัน จะทำให้ต้นยางมีเวลาในการสร้างน้ำยางได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำยางมากกว่าการกรีด 3 วันเว้น 1 วัน
    • ควรกรีดในช่วงเวลาประมาณ 3.00 น.- 5.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็น ส่งผลให้น้ำยางไหลได้นาน ผลลัพท์ก็จะได้น้ำยางมากตามไปด้วย
  2. ทำความเสียหายให้กับต้นยางน้อยที่สุด ต้องยอมรับว่าการกรีดยางเป็นการทำร้ายต้นยางชนิดจำเป็นต้องทำ ดังนั้น การกรีดยางที่ดีก็ควรจะเป็นการกรีดที่ทำร้ายต้นยางให้น้อยที่สุด หลักการในข้อนี้ ก็เพียงแต่เราต้องไม่กรีดให้บาดถึงเยื่อเจริญ นั่นเอง วิธีการก็คือ ผู้กรีดต้องมีความชำนาญมากพอและวิธีการกรีดที่ใช้การกระตุกข้อมือแทนการลากท่อนแขน (การกระตุก มีดจะเฉือนเปลือกยางให้ขาดออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถ้าเกิดพลาดพลั้งถึงขั้นบาดเยื่อเจริญบ้าง ก็จะบาดเป็นแผลเล็ก ต้นยางสามารถเชื่อมหรือประสานแผลเข้าด้วยกันได้ แต่การลากด้วยท่อนแขน จะเฉือนเปลือกยางเป็นชิ้น ๆ ยาวกว่า หากพลาดพลั้ง ก็จะบาดเป็นแผลที่ยาวกว่า)
  3. กรีดให้ได้นานที่สุด ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะกรีดยางให้ได้นานที่สุด (คุ้มค่าแรงและหยาดเหงื่อที่เราอดทนตรากตรำกรำแดดเปียกฝนมาตั้งแต่การโค่น-กวาด-เผา-ไถ-ขุดหลุม-ปลูก-ซ่อม-กำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย(ครั้งแล้วครั้งเล่า) ก็คือการกรีดที่ไม่บาง ไม่หนามากเกินไป และการมีวันหยุดกรีดเพื่อให้ต้นยางได้มีเวลาในการสร้างน้ำยางมาทดแทนน้ำยางที่ถูกกรีดออกไป ซึ่งโดยคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรที่คำนึงถึงต้นยางเป็นอันดับแรก แนะนำว่า ถ้าเป็นยางพันธ์ RRIM 600 แล้วละก็ ควรกรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน หากเริ่มกรีดที่ระดับความสูง 150 เซ็นติเมตร หน้ากรีดแรก ก็จะกรีดได้ประมาณ 5-5.5 ปี หน้กรีดที่สอง ก็อีก 5-5.5 ปี รวมสองหน้ากรีด(เปลือกแรก) ก็ 10-11 ปี สำหรับเปลือกที่สอง ก็ประมาณว่า 10-11 ปี เท่า ๆ กัน รวม 2 หน้ากรีด ก็ 20-22 ปี แต่ถ้าเรากรีดแบบ 4-5 วันเว้น 1 วัน แม้จะเป็นการกรีดเพียง 1 ใน 3 ของลำต้น หน้ากรีดทั้งสองหน้าก็จะหมดไปในเวลา ไม่เกิน 16 ปี
  4. เสียค่าใช้จ่ายในการกรีดน้อยที่สุด

ระบบกรีดยางพารา

เมื่อทราบหลักการกรีดยางพาราที่ดีแล้วว่าเราต้องการอะไรบ้าง ก็หันมาพิจารณาสวนยางพาราของเราเองว่าจะใช้ระบบกรีดแบบใด ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุ์ยาง นอกจากนี้ในความเป็นจริง สภาพของสวนยางพาราก็มีหลายแบบ เช่น อาจเป็นสภาพสวนยางที่กำลังจะเริ่มเปิดกรีดใหม่ (ซ่งจะเป็นการกรีดยางหน้าปกติ) หรือเป็นการกรีดสองหน้าต่างระดับ หรือเป็นการกรีดยางหน้าสูง หรือเป็นการกรีดยางก่อนโค่น ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการกรีดยางหน้าปกติ ซึ่งเป็นการกรีดยางที่ระดับความสูงตั้งแต่ 150 เซ็นติเมตร ลงมา ระบบกรีดยางหน้าปกติ ที่แนะนำโดยสถาบันวิจัยยาง มี 5 ระบบ ดังนี้
  1. กรีดครึ่งลำต้นวันเว้นสองวัน เหมาะกับยางพาราทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะพันธุ์ยางพาราที่อ่อนแอต่ออาการเปลือกแห้ง อาทิ พันธุ์ BPM 24, PB 235, PB 255, PB 260 และ RRIC 110
  2. กรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน ใช้ได้กับพันธุ์ยางพาราทั่ว ๆ ไป เช่น พันธุ์ RRIM 600
  3. กรีดครึ่งลำต้นสองวันเว้นหนึ่งวัน ใช้กับสวนยางพาราที่กำลังเริ่มกรีดเปลือกสองหรือเปลือกงอกใหม่ หรือสำหรับสวนยางขนาดเล็กกว่า 10 ไร่(ทั้งเปลือกแรกและเปลือกสอง) แต่จำนวนวันที่กรีดต่อปีไม่ควรเกิน 160 วัน ระบบนี้ไม่ควรใช้กับพันธุ์ยางพาราที่อ่อนแอต่ออาการเปลือกแห้ง
  4. กรีดหนึ่งในสามของลำต้นสองวันเว้นหนึ่งวัน ใช้กับสวนยางพาราที่กำลังเริ่มกรีดเปลือกสองหรือเปลือกงอกใหม่ หรือสำหรับสวนยางขนาดเล็กกว่า 10 ไร่(ทั้งเปลือกแรกและเปลือกสอง) แต่จำนวนวันที่กรีดต่อปีไม่ควรเกิน 160 วัน ระบบนี้ไม่ควรใช้กับพันธุ์ยางพาราที่อ่อนแอต่ออาการเปลือกแห้ง
  5. กรีดหนึ่งในสามของลำต้นวันเว้นวันโดยควบคู่กับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางความเข้มข้น 2.5 %ระบบนี้ไม่ควรใช้กับพันธุ์ยางพาราที่อ่อนแอต่ออาการเปลือกแห้ง และไม่ควรใช้กับสวนยางพาราในเขตแห้งแล้ง

การจัดการสวนยาง

  1. วิธีการใส่ปุ๋ย
    • ที่ราบ ควรใส่เป็นแถบซึ่งควรอยู่ตรงแนวทรงพุ่มต้นยางทั้ง 2 ด้าน โดยขุดดินเป็นแถบหรือร่องลึก 5-10 ซม. ใส่ปุ๋ยแล้วกลบ
    • ที่ลาดชันที่ไม่ได้ทำขั้นบันได ควรใส่เป็นหลุมแล้วกลบ โดยขุดหลุมลึก 5-10 ซม.ต้นละ 2 หลุมเป็นอย่างน้อย
    • ที่ลาดชันและทำขั้นบันไดแล้ว ควรขุดดินเป็นแถบหรือร่องลึก 5-10 ซม. ใส่ปุ๋ยแล้วกลบ หรือใส่เป็นหลุม ต้นละ 2 หลุมเป็นอย่างน้อย
  2. ช่วงเวลาที่เหมาะต่อการใส่ปุ๋ยคือ ช่วงที่ดินมีความชื้นหรือความนุ่มพอเพียงที่จะทำการขุดได้นั่นเอง และขณะใส่ต้องไม่ใช่ช่วงที่ยอดยางกำลังผลิใบอ่อน (ต้องรอให้ยอดอ่อนกลายเป็นใบเพสลาดก่อน)
  3. ควรทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ได้ทรงพุ่มที่ดี เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็ว และได้ไม้ที่มีขนาดความยาวของเปลา คือเปลายาว 2.5 เมตร กิ่งที่อยู่ในระดับต่ำกว่านี้จะต้องตัดออกให้หมด การตัดแต่งกิ่งควรทำก่อนที่จะหมดฝน ไม่ควรตัดแต่งกิ่งในหน้าแล้ง 
  4. ก่อนเข้าหน้าแล้ง ควรทำทางป้องกันไฟ 
  5. เมื่อสวนยางพาราเข้าสู่หน้าแล้ง ควรคลุมโคนต้นยางพาราด้วยฟางข้าวหรือเศษวัสดุทางการเกษตรที่หาง่ายในท้องถิ่น โดยเว้นระยะจากโคนต้นยางไว้ 5-10 ซม. หากสามารถราดหรือรดน้ำหมักชีวภาพผ่านวัสดุที่คลุมโคนด้วยก็จะเป็นการดีมาก ๆ
  6. ในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด เช่น ในเขตปลูกยางพาราใหม่ เมื่อสวนยางพาราเข้าหน้าแล้ง ให้ป้องกันเปลือกหรือลำต้นยางเป็นรอยไหม้จากการถูกแสงแดดเผา ด้วยการใช้ปูนขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 2 ส่วน แช่หรือหมักค้างคืนไว้ 1 คืน แล้วนำมาทาลำต้นยางตั้งแต่โคนต้น ไปจนถึงที่ความสูง 1.0-1.5 เมตร โดยทาเฉาะลำต้นส่วนที่เป็นสีน้ำตาล
  7. ปลูกพืชคลุมดิน ชนิดซีลูเรียม เพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดินทำให้ยางเจริญเติบโตดี
  8.  ควรเริ่มเปิดกรีดยางเมื่อขนาดลำต้น50 เซ็นติเมตร ขึ้นไป โดยวัดที่ความสูง 150 เซ็นติเมตร จากพื้นดิน จำนวนต้นยางพาราที่ได้ขนาด70-  90% ของจำนวนต้นยางทั้งแปลง