23.6.54

วิธีปลูกยางภาคอีสาน

หลักการพิจารณาพื้นที่ปลูกยาง
ดินและภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะสภาพพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่ราบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ลาดชันก็ไม่ควรเกิน 35 องศาถ้าความลาดชันเกิน 15 องศา จำเป็นต้องทำขั้นบันไดเพื่อป้องกันต้นยางโค่นล้มได้ง่ายด้วยแรงลม พื้นที่ควรมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร เพราะถ้าสูงเกิน จะทำให้การเจริญเติบโตลดลง นอกจากนี้ ควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการระบายน้ำดี ไม่มีชั้นหินหรือชั้นดินดาน ระดับน้ำใต้ดินควรต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร ดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงดินร่วนทราย และมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ระหว่าง 4.5-5.5 นอกจากนี้ ควรมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตร ต่อปี และมีจำนวนวันฝนตกไม่น้อยกว่า 120-150 วัน ต่อปี

พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมปลูกยาง 
เช่น ในพื้นที่นาข้าว พื้นที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ที่เป็นดินเค็ม ดินด่าง ดินปลวก และดินที่มีหินกรวดอัดแน่น หรือเป็นแผ่นหินแข็ง ทำให้ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต ต้นเล็กไม่ได้ขนาดเปิดกรีดเมื่ออายุ 7 ปี ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ รากแขนงของต้นยางยังไม่สามารถใช้น้ำในฤดูแล้ง ยิ่งถ้าช่วงแล้งยาวนานก็จะทำให้ต้นยางตายจากยอดได้ง่าย
การแก้ไข 
เกษตรกรก็สามารถทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และช่วยรักษาความชื้นในดิน การใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้นยาง การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางด้วยปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ก็จะทำให้ต้นยาง สมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งการขุดคูระบายน้ำให้มีความลึกมากกว่า 2 เมตร จากระดับผิวดิน ในกรณีดินมีน้ำท่วมขัง การช่วยบำรุงต้นยางเพิ่มขึ้นโดยวิธีต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดี แต่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การเตรียมพื้นที่ปลูกยางพารา
โดยการไถพลิกและไถพรวน อย่างน้อย 2 ครั้ง พร้อมเก็บตอไม้ เศษไม้ และเศษวัชพืชออกให้หมด เพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกยางทั้งในด้านการปฏิบัติงานและการ อนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อสะดวกในการเข้าไปดูแลบำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยาง
วางแนวปลูกต้นยางพารา
กำหนดแถว หลักของต้นยางโดยให้วางขวางทางการไหลของน้ำ เพื่อลดการชะล้างหน้าดินและการพังทลายของดิน ให้แถวหลักห่างจากเขตสวนเก่า ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร พร้อมขุดคูตามแนวเขตสวน เพื่อป้องกันโรครากยางและการแย่งธาตุอาหาร จากนั้นวางแนวปลูกด้วยการปักไม้ชะมบตามระยะปลูก สำหรับพื้นที่ลาดเทมากกว่า 15 องศา ให้วางแนวปลูกตามแนวระดับและทำขั้นบันได ควรทำให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูฝน (มีนาคม-ต้นเมษายน)
ระยะปลูกต้นยางพารา
ถ้า เป็นพื้นที่ราบในเขตปลูกยางเดิมภาคใต้ ใช้ระยะปลูก 2.5x 8 เมตร หรือ 3×7 เมตร จะปลูกยางได้ 80 ต้น หรือ 76 ต้น ต่อไร่ ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ราบในเขตปลูกยางใหม่ ใช้ระยะปลูก 2.5×7 เมตร หรือ 3×6 เมตร หรือ 3×7 เมตร มีจำนวนต้นยาง 91 ต้น หรือ 88 ต้น หรือ 76 ต้น ต่อไร่
ขนาด ของหลุม ขุดหลุมให้มีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร โดยขุดดินด้านใดด้านหนึ่งของไม้ชะมบไปในทางเดียวกัน ไม่ต้องถอนไม้ออก แยกดินส่วนบนและส่วนล่างไว้คนละกอง ผึ่งแดดประมาณ 1 สัปดาห์ พอดินแห้งย่อยดินให้ละเอียด นำดินส่วนบนใส่ก้นหลุม ส่วนดินชั้นล่างผสมกับปุ๋ยหินฟอสเฟต อัตรา 170 กรัม คลุกเคล้าร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 3-5 กิโลกรัม ต่อหลุม ใส่ด้านบน
การปลูกด้วยต้นยางชำถุง   เป็นวิธีที่ปลูกได้ผลสูงกว่า วิธีการปลูกด้วยต้นตอตา ยาง หรือติดตายางในแปลง เนื่องจากการปลูกยางในพื้นที่แหล่งใหม่มีปริมาณน้ำฝนและจำนวนวันฝนตกน้อย กว่าในเขตปลูกยางเดิมในภาคใต้ การปลูกด้วยต้นยางชำถุง ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ลดเวลาการดูแลรักษาต้นยางอ่อนให้สั้นลง ทำให้กรีดได้เร็วขึ้น เมื่อเลือกต้นยางชำถุงได้แล้ว ในกรณีที่มีการขนส่งควรระวังอย่าให้ดินในถุงแตกและให้หันลำต้นไปในทิศทาง เดียวกัน เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกกัน หลังการขนส่งให้ตัดรากที่ม้วนเป็นก้อนอยู่ก้นถุงหรือที่ทะลุถุงออก นำมาวางเรียง 2-3 แถว ในแถวเดียวกัน โดยให้หันลำต้นไปในทางเดียวกัน เพื่อให้ต้นยางมีโอกาสพักปรับตัว ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงย้ายลงปลูก โดยหันแผ่นตาไปทางทิศเหนือ-ใต้ ให้รอยต่อระหว่างรากกับตาอยู่ระดับปากหลุม จากนั้นใช้มีดเฉือนก้นถุงออก ประมาณ 2-3 เซนติเมตร นำไปวางในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ จากนั้นใช้มีดกรีดข้างถุงให้ขาดออกจากกันทั้ง 2 ด้าน แต่อย่าเพิ่งดึงถุงออก เพราะจะทำให้ดินในถุงแตก จากนั้นจึงกลบดินประมาณครึ่งหลุม โดยนำดินชั้นบนใส่ก้นหลุม ส่วนดินชั้นล่างที่ผสมกับปุ๋ยหินฟอสเฟต อัตรา 170 กรัม คลุกเคล้าร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 3-5 กิโลกรัม ต่อหลุม ให้ใส่ไว้ด้านบน จากนั้นจึงดึงถุงออก กลบดินจนเสมอปากหลุม เหยียบดินรอบๆ ต้นยางให้แน่น โดยพูนดินโคนต้นยางให้สูงเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำขังในหลุม เสร็จแล้วใช้เศษพืชคลุมบริเวณโคนต้นยางให้มีรัศมี 50-80 เซนติเมตร โดยให้ห่างจากต้นยาง 5-10 เซนติเมตร เพื่อรักษาความชื้นในดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น